การจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา

        

แนวคิดการจัดการเรียนรู้แบบซิปปา

  แนวคิดการจัดการเรียนรู้รูปแบบซิปปา

   ลักษณะของกิจกรรมการเรียนรูปแบบซิปปา

   หลักการออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรูปแบบซิปปา

  การจัดกิจกรรมการเรียนรูปแบบซิปปา

  บทบาทของผู้สอนและผู้เรียนในการจัดกิจกรรมการเรียนรูปแบบซิปปา

หน้าหลักสืบค้น

 

           ทิศนา แขมมณี (2542, หน้า 11-12) ได้เสนอหลักการจัดการเรียนตามรูปแบบซิปปาไว้ว่า การเรียนรู้รูปแบบนี้เน้นที่การให้ผู้เรียนเป็นจุดสนใจ (center of attention) หรือผู้เรียนมีบทบาทสำคัญ ซึ่งการที่ผู้เรียนมีบทบาทสำคัญจะดูได้จากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ หากผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้น (active participation)
การมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น รู้สึกตื่นตัว ตื่นใจ ใจจดจ่อผูกพันกับสิ่งที่ทำ เป็นการจัดเพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้ ตามหลักการของ CIPPA Model นี้ได้แนวคิดมาจากการประสาน 5 แนวคิดหลัก คือ
          1. แนวคิดการสรรสร้างความรู้ (construction of knowledge)
          2. แนวคิดเรื่องกระบวนการกลุ่ม และการเรียนแบบร่วมมือกันเรียนรู้ (group process and co-operativel)
          3. แนวคิดเกี่ยวกับความพร้อมในการเรียนรู้ (learning readiness)
          4. แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้กระบวนการ (process learning)
          5. แนวคิดเกี่ยวกับการถ่ายโอนการเรียนรู้ (transfer of learning)

 

          ส่วนกิจกรรมการเรียนรู้ที่จะให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมการเรียนรู้อย่างผูกพัน  กิจกรรมควรจะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

          1. กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางด้านร่างกาย (Physical Participation) คือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อช่วยให้ประสาทการรับรู้ของผู้เรียนตื่นตัวว่าพร้อมที่จะรับข้อมูล และการเรียนรู้
ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงควรจัดกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นระยะๆ ตามความเหมาะสมกับวัย และระดับความสนใจของผู้เรียน

          2. กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางสติปัญญา (intellectual participation) คือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนเคลื่อนไหวทางสติปัญญา เป็นกิจกรรม ที่ท้าทายความคิดของผู้เรียน สามารถกระตุ้นสมองของผู้เรียนให้เกิดการเคลื่อนไหว ช่วยให้ผู้เรียนจดจ่ออยู่กับการคิด สนุกที่จะคิด กิจกรรมส่งเสริมการคิดไม่ยากไม่ง่ายจนเกินไป เป็นประเด็นที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดหรือลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

         3. กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางสังคม (social participation) คือเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับบุคคลหรือสิ่งแวดล้อม เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทางด้านสังคม

        4. กิจกรรมการเรียนรู้ที่ดีควรช่วยให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมทางด้านอารมณ์ (emotional participation) คือเป็นกิจกรรมที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของผู้เรียน ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้นั้น เกิดความหมายกับตัวเองมักเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำ วัน ประสบการณ์และความเป็นจริงของผู้เรียน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือใกล้ตัวผู้เรียน

 

อ้างอิงจาก

ทิศนา  แขมมณี. (2542). การจัดการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.